สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานคณะกรรมการจัดงาน A-PLAS 2024 กล่าวว่า ในแง่ของวัสดุศาสตร์ “พลาสติก” จะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติประเภทอื่นๆ มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกเองกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านและก้าวข้ามเพื่อตอบสนองทิศทางของโลกในด้านของสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้สังคมและประชากรโลกมีชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทั้งนี้ การผลักดันเป้าหมายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมพลาสติกตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ร่วมกันจัดงาน “A-PLAS 2024: Integrating Plastic Value Chain for Eco-Future” ในวันที่ 19-21 กันยายน 2567 เพื่อเป็นเวทีแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของอุตสาหกรรมพลาสติก รวมทั้งเป็นนำเสนออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อาทิ วัสดุ สารเติมแต่ง เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือช่วยการผลิต ตลอดจนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การจัดงาน A-PLAS 2024 ยังเป็นส่วนหนึ่งภายใต้นโยบายของรัฐในการตอบสนองการส่งเสริมการลงทุนเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์
ดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand Plastics Industries Roadmap: Drive Transformation and Create a Sustainable Future” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมและชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายศักยภาพ ซึ่งจะมีส่วนในการสนับสนุนการความต้องการใช้อุตสาหกรรมพลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน อาทิ อาหารและการบริหารฮาลาล ยานยนต์และชิ้นส่วน ก่อสร้าง และเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้ยังผลักดันนโยบายในการส่งเสริมการตั้งโรงงานที่ใช้พืชผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ เช่น อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง การเพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ และขับเคลื่อนมาตรการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ ให้มีการลดหย่อยภาษีได้ 1.25 เท่า ในปี 2565-2567 รวมถึงการเดินหน้ากองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในการปล่อยสินเชื่อลดโลดร้อน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานการรีไซเคิลพลาสติก
ทั้งนี้ในระยะข้างหน้าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกจะต้องเผชิญความท้าทายของการแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรม ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยมีการออกนโยบายการใช้พลาสติกที่มีความเข้มข้นมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายการสร้างขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และส่งเสริมการใช้พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลก ล้วนเป็นปัจจัยความท้าทายของความสามารถในการทำกำไร
ทั้งนี้ ทิศทางของอุตสาหกรรมพลาสติกในอนาคตยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอีกหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาพลาสติกให้มีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาฟอสซิล และการใช้ทรัพยากรลดลง รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการคาร์บอนข้ามพรมแดน (ซีแบม) “อุตสาหกรรมพลาสติกต้องพลิกโอกาสในการสร้างธุรกิจสีเขียวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวผ่านมาตรการกีดกันการค้า และเติบโตได้ในตลาดโลก” เปิดโรดแมปเดินหน้าอุตสาหกรรม “พลาสติก” บรรลุเป้าความยั่งยืน
วิรัช เกลียวปฏินนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Drive Plastic Value Chain for Eco-Future“ ว่า อุตสาหกรรมพลาสติกกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากทั่วโลกในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยในเวทีระดับโลกได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ทั้งการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน การพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 หัวข้อ ทั้งนี้ แรงกดดันที่มากที่สุดจะอยู่ที่กลุ่มพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ซึ่งที่ผ่านมาพลาสติกกลุ่มนี้ขยายตัวมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทั้งในแง่ความสะอาด และธุรกิจเดลิเวอลี่ โดยส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือการจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นเหล่านี้ โดยในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมา ภาครัฐเองก็ได้มีการออกมาตรการแบนสินค้าพลาสติกบางชนิดที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เช่น พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ
นอกจากนี้ การนำพลาสติกชีวภาพมาเป็นวัสดุทดแทนพลาสติกแบบเดิมนั้นมองว่า ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งให้เหมาะสมกับการใช้งานด้วย ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นไมโครพลาสติกก่อนที่จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ ขณะเดียวกัน อีกส่วนที่สำคัญคือการมีบ่อจัดการขยะและโรงหมักปุ๋ยในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้ อีกส่วนสำคัญที่อุตสาหกรรมพลาสติกจะต้องเตรียมพร้อมคือเรื่องของการมีส่วนรับผิดชอบในการบริหารทรัพยากรขยะรวมถึงของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการใช้งานของผู้บริโภค (EPR: Extended Producer Responsibility) ซึ่งจะกำหนดเป็นกฎหมายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลาสติกเป็นภาพของต้นน้ำที่เชื่องโยงในมิติต่าง ๆ โดยมีปริมาณมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 8% ของผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศ (GDP) ในประเทศไทย ดังนั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แหล่งวัตถุดิบ หลุมก๊าซธรรชาติ ในไทยจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การนำจะเสนอ ทั้งนี้ ในเชิงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพลาสติกหากต้องการเพิ่มมูลค่า จะเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีกมาก ซึ่งข้อกังวลจากข้อกำหนด มุมการค้า แง่การดูแลรักษาโลก จะเป็นต้นทุนผู้ประกอบการ หากจะให้ไปถึงการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หากจะเดินไปลำพังจะไม่สามารถโตได้ จะต้องร่วมมือ ซึ่งปลายทางของอุตสาหกรรมพลาสติกมีมากมาย ทั้งภาคการขนส่ง ภาคบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งภาคยานยนต์ไทยต้องการดึงเงินลงทุนจากต่างชาติสูงจริง แต่จะเกิดภาวะอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญหรือไม่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก รับมือเทรนด์โลกร้อน ขนเทคโนโลยีสู้ตลาดต่างประเทศ “เราอยากชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามา แต่จะปล่อยให้เอาซัพพลายเออร์เข้ามาทั้งระบบ หรือเราจะสร้างข้อตกลงบางอย่างเพราะไทยมีความเก่งด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือนโยบายว่าจะกำหนดเทรนด์หรือจะทำอะไรต่อ ไทยมีดีมานด์ แต่ก็ปล่อยให้ต่างชาตินำเข้ามา” อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ผู้ประกอบการถือเป็นหัวใจสำคัญ หากอยู่ไม่ได้ จะไม่เกิดการจ้างงาน ไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไทยเจอการคุกคามและฐานการผลิตที่เวียดนามทั้งแรงงาน และราคาพลังงานที่ถูกกว่า ดังนั้น ภาครัฐต้องมีส่วนขับเคลื่อนร่วมกับผู้ประกอบการให้มีความท้าทายทันสมัย เช่น ซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไทยยังเข้าไปไม่ได้ เพราะต้นทุนเบื้องต้นยังสู้จีนไม่ได้
นอกจากนี้ ในการปลดปล่อยคาร์บอนที่ระบุว่าให้เป็นพลังงานสะอาดนั้น ยอมรับว่าทุกอย่างมีต้นทุน ต้องสร้างความรู้ความสามารถให้เท่าทัน เพราะการจะพัฒนาจะเกิดความยั่งยืนจะต้องปรับตัว โดยเฉพาะนวัตกรรมที่มีต้นทุนถือว่ามีความท้าทาย ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ หน่วยงานภาครัฐ และภาคการศึกษาจะต้องเข้ามาช่วย เพื่อให้โลกยั่งยืน องค์กรก็จะต้องยั่งยืนด้วย