โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมให้สัมภาษณ์ "สนามเป้า บรรเทาทุกข์" ประเด็น "รัฐฯ เปิดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย"

หมวดหมู่: OK MASS NEWS


       เมื่อวันที่  21 ตุลาคม 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษก ศปช. ให้เกียรติในรายการ "สนามเป้า บรเทาทุกข์" ให้สัมภาษณ์ในประเด็น "รัฐฯ เปิดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย" โดยสรุปได้ 9 มาตรการเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย

      โดยเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นั้น นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีทุกคน ทุกหน่วยงานและจิตอาสา ที่ลงพื้นที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ ประธาน ศปช.ส่วนหน้า และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ที่ลงไปอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อประสานหน้างานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายไปมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ และยังสร้างความมั่นใจให้ผู้ประสบภัยถึงการช่วยเหลือของรัฐบาลและทุกภาคส่วนอย่างเต็มกำลัง


     นายจิรายุ ได้กล่าวสรุปรวมมาตรการเยียวยาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ทั้งมาตรการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายครอบครัวละ 9,000 บาท และค่าล้างโคลนหลังละ 10,000 บาท สำหรับค่าล้างโคลนนั้น ผู้รับเงินเยียวยาต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชน, กรอกแบบฟอร์มขอรับการช่วยเหลือ, และยื่นกับอปท.ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่
    ส่วนผู้ประสบภัย ที่เอกสารสำคัญชำรุดหรือสูญหาย ไม่ว่าจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชน โฉนดที่ดิน ใบรับรอง หรือหนังสือสำคัญของทางราชการ สามารถติดต่อขอรับใหม่ได้ โดยขอรับ "หนังสือรับรองผู้ประสบภัยประเภทบุคคลธรรมดา" จาก อปท.ในพื้นที่ก่อน แล้วนำหนังสือรับรองดังกล่าวไปดำเนินการขอรับเอกสารสำคัญในขั้นตอนต่อไปได้ง่ายขึ้น
    นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมอีกได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ต้องนำเงินชดเชยมาคำนวณเสียภาษี ส่วนนิติบุคคลไม่ต้องนำเงินชดเชยมาคำนวณเสียภาษี และยกเว้นภาษีอากรนำเข้าสิ่งของที่นำมาบริจาค นอกจากนี้ กรมธนารักษ์จะยกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุ 1 ปีสำหรับบ้านเรือนที่เสียหายบางส่วน และยกเว้นค่าเช่า 2 ปีให้บ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง หากเป็นเกษตรกร ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี และยังมีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พักหนี้เงินต้น และขยายเงินกู้ ของธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเอสเอ็มอี และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายเพื่อออกเป็นระเบียบหรือพระราชกฤษฎีกา ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนตุลาคมนี้
    ส่วนการสร้างบ้านและซ่อมแซมบ้านให้ผู้ประสบอุทกภัยนั้น กระทรวงยุติธรรมและผู้ต้องขังจิตอาสาราชทัณฑ์ เรือนจำกลางเชียงราย ลงพื้นที่สร้างบ้านพักน็อคดาวน์ 32 หลัง - ซ่อมแซมบ้าน 52 หลัง ประกอบด้วย ที่บ้านรวมมิตร 17 หลัง บ้านแคววัวดำ 6 หลัง บ้านจะเด้อ 6 หลัง บ้านโป่งนาคำ 1 หลัง และบ้านเมืองงิม 2 หลัง นอกจากนี้ยังซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหายบางส่วน จำนวน 53 หลัง (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ต.ค.67) พร้อมทั้งเข้าปรับภูมิทัศน์ ขุดนำดินโคลนไปทิ้ง โดยได้รับร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีที่พักอาศัยที่ปลอดภัยและสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว

 

ขอบคุณที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/89136
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1149149

Facebook : https://www.facebook.com/share/p/SQXZmptC8SsWkTfU/

 

 

สามารถติดตามรับชมรายการสดได้ทุกวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 13.30 - 14.30 น. ทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ( ททบ.5 )
หรือติดตามรายการย้อนหลังได้ที่ Youtube : ONUMA Channel >> ลิ้งค์ 1 << และ >> ลิ้งค์ 2 <<

05 พฤศจิกายน 2567

ผู้ชม 44 ครั้ง

Engine by shopup.com