รวมยารักษาโควิด-19 เปิดเกณฑ์ ไขข้อสงสัยทำไมแต่ละคนได้รับไม่เหมือนกัน

หมวดหมู่: OK MASS NEWS

#OKnewsonline รวมยารักษาโควิด-19 เปิดเกณฑ์ ไขข้อสงสัยทำไมแต่ละคนได้รับไม่เหมือนกัน
ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่าย ๆ หลังจากพบการกลายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ซึ่งมีความสามารถแพร่ได้ไวมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำเอาตัวเลขผู้ป่วยในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และในอนาคตคาดว่าจะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยดั้งเดิม BA.2
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมายอมรับว่า ยอดผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจริง เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ
ประกอบกับการมีสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่เข้ามา แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สาธารณสุขรองรับได้ ทั้งนี้ยังคงเดินหน้าเตรียมความพร้อมปรับโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นต่อไป
ดังนั้น หากติดโควิดแล้ว จะได้รับการรักษา และยาอะไรบ้างนั้น ทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวีได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ฉบับปรับปรุง วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 มีข้อมูลการรักษาโควิด ตามกลุ่มอาการ ดังนี้
ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 : ไม่มีอาการ หรือ อาการน้อย (Asymptomatic COVID-19)
แพทย์จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือสถานที่รัฐจัดให้ และให้ ยาฟ้าทะลายโจร ตามดุลยพินิจของแพทย์
ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 : มีอาการ แต่ไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง
แพทย์จะพิจารณาให้ ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากผู้ป่วยมีอาการมาเกิน 5 วันแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายเองได้ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยกลุ่มที่ 3 : มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง (อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, เบาหวาน, ภาวะอ้วน, ตับแข็ง, ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ, ผู้ติดเชื้อ HIV)
แพทย์จะแนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ซึ่งมีเกณฑ์การเลือกให้ยาดังนี้
มีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ อาจได้รับ ฟาวิพิราเวียร์, เรมเดซิเวียร์, โมลนูพิราเวียร์ หรือ แพ็กซ์โลวิด
มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 2 ข้อ อาจได้รับ เรมเดซิเวียร์, แพ็กซ์โลวิด หรือ โมลนูพิราเวียร์
ทั้งนี้หากได้รับยาเรมเดซิเวียร์ จะเป็นยาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่แพทย์จะให้บริโภคเป็นเวลา 3 วัน
ผู้ป่วยกลุ่มที่ 4 : มีอาการปอดอักเสบ
แพทย์จะแนะนำให้ยาเรมเดซิเวียร์เป็นเวลา 5-10 วัน หรือ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ขึ้นกับอาการทางคลินิก
เจาะลึกข้อมูลยาทางการแพทย์
ยาฟ้าทะลายโจร
ยาฟ้าทะลายโจร มีทั้งชนิดแคปซูล หรือ ยาเม็ดที่มีสารฟ้าทะลายโจรชนิดสารสกัด (Extract) หรือ ผงบด (Crude Drug) ซึ่งจะต้องทานให้ได้สารแอนโดร (Andrographolide) 180 มก./คน/วัน โดยแบ่งให้ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร และให้กินติดต่อกัน 5 วันหลังพบการติดเชื้อเท่านั้น (ถ้าจำนวนแคปซูลต่อครั้งมาก อาจแบ่งให้ 4 ครั้งต่อวัน)
สำหรับยาฟ้าทะลายโจร เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ เนื่องจากในเด็กนั้น ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้เพื่อการรักษาโควิดได้
ส่วนข้อควรระวังของยาฟ้าละลายโจร มีดังนี้
ห้ามใช้ในคนที่มีประวัติแพ้ยาฟ้าทะลายโจร และหญิงตั้งครรภ์/กำลังให้นมบุตร เพราะอาจมีผลต่อ Uterine Contraction และ ทารกผิดปรกติ
ห้ามใช้ร่วมกับยาลดความกัน และยาที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin, Aspirin และ Clopidogrel เพราะอาจเสริมฤทธิ์กัน
ไม่ควรใช่พร้อมยาต้านไวรัสตัวอื่น
ยังไม่มีข้อมูลการปรับขนาดยาในผู้ป่วยโรคไตรุนแรงหรือโรคตับ
เมื่อใช้ยาฟ้าทะลายโจรแล้ว อาจปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ ใจสั่น เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ (พบมากขึ้นเมื่อใช้ยาขนาดสูงหรือนานเกิน) หรืออาจเกิดลมพิษ (พบน้อย)
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)
สำหรับการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ในผู้ใหญ่หากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 90 กิโลกรัม วันแรกจะให้ 1,800 มิลลิกรัม (9 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง และวันถัดมาจะให้ 800 มิลลิกรัม (4 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง และในกรณีที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม วันแรกจะให้ 1,000 มิลลิกรัม (5 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง
ส่วนในเด็ก วันแรกจะให้ 70 มิลลิกรัม/วัน วันละ 2 ครั้ง และในวันถัดมาจะให้ 30 มิลลิกรัม/วัน วันละ 2 ครั้ง
ส่วนข้อควรระวังของยาฟาวิพิราเวียร์ มีดังนี้
มีโอกาสทำให้พัฒนาการของทารกในครรภ์ผิดปรกติ (Teratogenic Effect) ควรระวังการใช้ในหญิงมีครรภ์
อาจเพิ่มระดับภาวะกรดยูริก ควรระวังการใช้ร่วมกับยาต้านวัณโรค “ไพราซิไมด์” (pyrazinamide)
ระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) หากใช้ร่วมกับยารีพาไกลไนด์ (Repaglinide) หรือ ยาไพโอกลิตาโซน(Pioglitazone)
แบ่งหรือบดเม็ดยา และให้ทางรูจมูก (NG tube) ได้
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ไม่ต้องปรับขนาดยา แต่ควรปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องในระดับปานกลางถึงรุนแรง คือ วันแรก 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง และวันถัดมา 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง
ควรให้ยาภายใน 4 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)
สำหรับการให้ยาโมลนูพิราเวียร์ ในผู้ใหญ่ควรให้ยาขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด จำนวน 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ส่วนในเด็ก ขณะนี้ยังรับรองให้ใช้เฉพาะผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงป่วยโควิด-19 รุนแรงเท่านั้น
ส่วนข้อควรระวังของยาโมลนูพิราเวียร์ มีดังนี้
มีโอกาสทำให้พัฒนาการของทารกในครรภ์ผิดปรกติ (Teratogenic Effect) ควรระวังการใช้ในหญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาให้ผู้ป่วยตับบกพร่อง
ต้องให้ยาภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี ทำให้ลดการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ร้อยละ 30
ยาแพ็กซ์โลวิด (Nirmatrevir/Ritonavir)
สำหรับการให้ยาแพ็กซ์โลวิด ในผู้ใหญ่ควรบริโภค Nirmatrelvir ขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด จำนวน 2 เม็ด ร่วมกับ Ritonavir ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด วันละ 2 ครั้ง
ส่วนในเด็ก ขณะนี้ยังรับรองให้ใช้เฉพาะผู้ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงต่อโควิด-19 รุนแรงเท่านั้น โดยให้ใช้ขนาดยาเดียวกับผู้ใหญ่
ส่วนข้อควรระวังของยาแพ็กซ์โลวิด มีดังนี้
ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูล
เมื่อใช้แล้ว อาจเกิดปฏิกิริยาร่วมกันกับยาอื่นหลายชนิด เช่น ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม ergot, ยากลุ่ม statin, และ amiodarone เป็นต้น
ต้องให้ยาภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี ช่วยลดการเกิดอาการรุนแรงได้ 89%

15 กรกฎาคม 2565

ผู้ชม 400 ครั้ง

Engine by shopup.com