เสวนาออนไลน์ “รู้เท่าทัน ป้องกัน รับมือภัยออนไลน์” วงเสวนา ชี้ช่องทางหากไม่อยากตกเป็นเหยื่อต้องมีสติ อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม รู้ทันสื่อเทคโนโลยี และไม่โอนเงิน

หมวดหมู่: ผลงาน
เสวนาออนไลน์ “รู้เท่าทัน ป้องกัน รับมือภัยออนไลน์” วงเสวนา ชี้ช่องทางหากไม่อยากตกเป็นเหยื่อต้องมีสติ อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม รู้ทันสื่อเทคโนโลยี และไม่โอนเงิน
 
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 รายการสื่ออาสาประชาชน โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดเสวนาออนไลน์ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ“ รู้ทัน ป้องกัน รับมือออนไลน์” เพื่อหยิบหยกปัญหาภัยออนไลน์ หลายรูปแบบ พร้อมแนะวิธีรับมือขบวนมิจฉาชีพเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ โดย อรอุมา เกษตรพืชผล ผู้จัดการสถานีเฟซบุ๊กไลฟ์ สื่ออาสาประชาชนเป็นผู้ดำเนินรายการ
 
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) เปิดเผยข้อมูลของภัยออนไลน์ปัจจุบันที่มีหลากหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายมากกว่า 1,275 ล้านบาท และมากที่สุดคือด้านการเงิน 4,436 เรื่องมีความเสียหาย 1,100 ล้านบาท ทั้งการหลอกให้กู้ยืมเงิน แชร์ลูกโซ่ คอลเซ็นเตอร์ การหลอกให้ลงทุน ไฮบริดจ์สแกม เป็นต้น โดยเฉพาะการหลอกให้ลงทุนในแอปพลิเคเคชันต่างๆเพื่อแลกกับค่าตอบแทนสูงเกินจริง ซึ่งต้นทางการหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือ คอลเซ็นเตอร์ การหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีที่เรียกว่าบัญชีม้าที่มีประชาชนตกเป็นเหยื่อมากที่สุด สำหรับการลงทุนคริปโตเคอเรนซี่ ปัจจุบันมีโอกาสถูกหลอกสูงเพราะมียอดเงินที่สูง ควรเลือกสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้และปลอดภัยที่สุด รูปแบบของภัยออนไลน์จะมีการพัฒนาตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องใช้สติอย่างมากในการพิจารณาข้อมูลต่างๆ โดยจะต้องไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน 1441
 
สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อํานวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงภัยออนไลน์ที่มาในรูปแบบของข่าวปลอมว่า ในยุคที่มีอินเทอร์เน็ตทำให้การสื่อสารมีความสะดวกทำให้ข่าวปลอมสามารถกระจายไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นซึ่งจะพบได้ในเพจต่างๆ ปัจจุบันศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำหน้าที่พิสูจน์ข่าวหรือข้อมูลต่างๆทางออนไลน์เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง โดยแยกเป็น 4 หมวดได้แก่ เศรษฐกิจ ความมั่นคง ภัยพิบัติ และสุขภาพ และเปิดให้ประชาชนสอบถามเข้ามาในศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ส่วนของการแก้ปัญหาการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์ กระทรวงมีการจัดตั้ง 1212 OCC เพื่อทำหน้าที่กวาดข่าวที่มีโอกาสที่จะเป็นการหลอกลงทุน หลอกซื้อของออนไลน์ หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ประชาชนสามารถโทรเข้ามาสอบถามตามช่องทางต่างๆ สายด่วน 1111 กด 87 สำหรับกลไกลสร้างความปลอดภัยจากข่าวปลอมที่ประชาชนต้องมีคือความรู้เท่าทันสื่อ
 
ดร.ชํานาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า กองทุนสื่อฯมีหน้าที่ส่งเสริมเน้นให้ความรู้ เท่าทันสื่อ สาเหตุที่ภัยออนไลน์ยังคงมีมากอยู่ส่วนหนึ่งเกิดจากคนที่เป็นเหยื่อไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นต้นเหตุของการถูกหลอกลวงทำให้ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริง อีกสาเหตุคือการแข่งขันของสื่อออนไลน์ในปัจจุบันเกือบทุกสื่อมองเพียงว่าประชาชนเป็นผู้บริโภคทำอย่างไรให้มีรายได้มากที่สุดทำให้มีการส่งต่อข้อมูลที่ไม่ผ่านการวิเคราะห์ ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งต่อข้อมูลที่เกินความเป็นจริง ดังนั้นประชาชนจะต้องมีสติในการรับข้อมูลข่าวสาร เช่น เรื่องของการลงทุนที่ให้ค่าตอบแทนที่สูงและง่าย ต้องตรวจสอบแหล่งที่มา ความน่าเชื่อถือของบริษัทหรือผู้ที่รับลงทุนจนกว่าจะเกิดความมั่นใจจึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์
 
ลูกหนู (ผู้เสียหาย) ถูกหลอกลงทุนออนไลน์ เปิดเผยถึงความเสียหายในการถูกหลอกให้ลงทุนออนไลน์ว่า เนื่องจากตนเองมีอาชีพขายของออนไลน์ แล้วมี Facebook เข้ามาทักเพื่อที่จะให้ลงทุนในสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตัวซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์ โดยครั้งแรกตนได้ร่วมลงทุนไป500 บาทและได้เงินคืนมา 600 บาทภายในเวลาไม่ถึง 10 นาทีทำให้เชื่อว่าได้จริง จากนั้นจึงถูกชักชวนให้ร่วมลงทุนเพิ่มมากขึ้นทำให้สูญเสียเงินไปจำนวนมากถึง 360,000 บาท โดยยังไม่ได้เงินคืน ขณะนี้ได้แจ้งความไว้ที่ สภ.เมือง นครนายก เพื่อให้ตำรวจติดตามคดีต่อไป
 
สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมเสวนาออนไลน์ย้อนหลังได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ สื่ออาสาประชาชน และเฟซบุ๊กเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
 

15 กรกฎาคม 2565

ผู้ชม 325 ครั้ง

Engine by shopup.com