วงเสวนา ‘อาสาด้วยใจ..คนไทยไม่ทิ้งกัน’ ชี้คนไทยมีจิตอาสาเป็นพื้นฐานในการสร้างความสุขในชีวิต การทำงานอาสาต้องเสียสละ เหมือนการปิดทองหลังพระ

หมวดหมู่: ผลงาน
กองทุนสื่อ หนุนจิตอาสาต้นทุนขับเคลื่อนสังคม
 
วงเสวนา ‘อาสาด้วยใจ..คนไทยไม่ทิ้งกัน’ ชี้คนไทยมีจิตอาสาเป็นพื้นฐานในการสร้างความสุขในชีวิต การทำงานอาสาต้องเสียสละ เหมือนการปิดทองหลังพระ
 
(11 เมษายน 2565) สื่ออาสาประชาชน โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดเสวนาออนไลน์ ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “อาสาด้วยใจ..คนไทยไม่ทิ้งกัน” เพื่อสร้างจิตสำนึกคนในสังคมให้เกิดพลังจิตอาสา ดำเนินรายการโดย อรอุมา เกษตรพืชผล ผู้จัดการสถานีเฟซบุ๊กไลฟ์สื่ออาสาประชาชน
 
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า โดยพื้นฐานของคนไทยส่วนใหญ่มีจิตใจที่พร้อมจะช่วยเหลือคนอื่น ดูได้จากทุกครั้งที่เกิดวิกฤตไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กคนไทยไม่เคยแล้งน้ำใจไม่ทอดทิ้งกันและพร้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เปรียบเหมือนบ่อน้ำกับคนกระหายน้ำ ซึ่งถ้าบ่อน้ำมีน้อยกว่าผู้กระหายน้ำนั่นหมายถึงสังคมมีปัญหาแน่นอน
และขณะนี้ทางกองทุนสื่อสนับสนุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ก็พยายามที่จะทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทราบว่ามีสื่อไหนบ้างที่สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างเช่น รายการสื่ออาสาประชาชน ที่กองทุนสื่อได้ให้การสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นช่องทางในการแก้ปัญหาในตอนนี้
พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ, ศ.ดร. รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยถึง การทำโครงการอาสาในกลุ่มพระสงฆ์ขณะนี้ว่า โครงการ “เครือข่ายพระสงฆ์เฝ้าระวังสื่อชวนเชื่อทางศาสนา” ที่นับเป็นงานจิตอาสาหนึ่ง เพื่อสร้างแกนนำและเครือข่ายพระสงฆ์ทั่วประเทศในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน
 
โดยโครงการเริ่มต้นจากการแสวงหาพระนักพัฒนาที่ต้องการพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และทำกิจกรรมกันเองในพื้นที่ โดยมีแกนนำพระสงฆ์มากถึง 700 รูปในปัจจุบัน และสามารถสร้างกลุ่มเครือข่ายเชื่อมโยงกันไปทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ โดยกลุ่มเครือข่ายจะมีการทำแผนที่คนทุกข์เพื่อให้การช่วยเหลือได้ตรงจุด ในส่วนสิ่งของอุปโภคบริโภคในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก จะมาจากการบริจาค มีความพร้อมจากโครงการปันสุขของพระสงฆ์ที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงโควิดทางโครงการมีการแจกถุงยังชีพ มีทั้งยารักษาโรค เช่น ฟ้าทะลายโจร
นายจำรัส คำรอด ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (อสม.) กล่าวว่า การทำงานอาสาของกลุ่ม อสม. ว่า ตนเป็น อสม. มาแล้ว 28 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 เนื่องจากชุมชนแถวบ้านมีสถานีอนามัยน้อย คนไข้ที่อยู่รอบชุมชนเดินทางไปหาหน่วยแพทย์ยากลำบากเนื่องจากทุรกันดาร ถนนส่วนใหญ่เป็นลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อ การเดินทางหน่วยแพทย์ลำบาก ซึ่งตนอยากช่วยเจ้าหน้าที่พาคนไข้ไปส่งโรงพยาบาลจึงได้สมัครเป็น อสม.
ปัจจุบันมีสมาชิก อสม. ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน ทุกหมู่บ้านมี อสม. ครัวเรือนละ 10-20 คน ดูแลคนละ8-15หลังคาเรือน แม้ว่าตอนนี้ อสม. มีค่าเบี้ยเลี้ยงที่เรียกว่าค่าป่วยการ แต่ในความเป็นจริงแล้วการทำงาน อสม. บางครั้งต้องควักเงินส่วนตัวเองบ้าง
เพราะฉะนั้นการเป็น อสม. ต้องมีใจที่เสียสละมาก่อน และดีใจที่ตอนนี้มีคนอยากเป็น อสม. กันมากขึ้น แม้แต่ อสม.ที่เป็นผู้สูงอายุก็ยังอยากที่จะทำงานช่วยเหลือประชาชนอยู่
นางสาวศิริโชค เทพมณี ผู้แทนชมรมเด็กและเยาวชนดีเด่น สภาสังคมสงเคราะห์แห่ง
ประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานอาสาว่า ทางสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ ได้เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนสะท้อนปัญหาสังคมและเป็นตัวอย่างของการเติบโตสู่กำลังสำคัญของประเทศชาติ เพื่อให้ทุกคนสามารถทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ
ส่วนใหญ่เด็กเยาวชนที่เป็นอาสาจะมีสิ่งที่เหมือนกันคือการเป็นจิตอาสาและพร้อมมอบสิ่งดีๆให้ผู้อื่น ซึ่งสิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของการเป็นจิตอาสาของตนก็คือความเมตตาและการเสียสละ ซึ่งทุกคนสามารถเป็นจิตอาสาได้ แม้ว่าการปล่อยพลังของเยาวชนอาสาจะมีต้นทุนมีค่าใช้จ่าย แต่บางคนต้องยอมลดค่าขนมของตนเองเพื่อมาช่วยสังคมแต่สิ่งที่ต้องทำเพราะเป็นชมรม เพราะเรามองว่าพลังจะใหญ่ขึ้น หนึ่งบวกหนึ่งต้องมากว่าสองและต้องทวีคูณไปเรื่อยๆ นั่นคือจุดแข็งของพลังเยาวชนอาสา และก่อนที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้เราจะต้องพัฒนาศักยภาพของเราก่อนถึงจะออกไปช่วยเหลือคนอื่นได้
คุณพันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งโครงการฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ กล่าวถึง จุดกำเนิดโครงการฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ เกิดขึ้นตั้งแต่โควิด-19 ระลอกแรก หลังเปิดศูนย์ชั่วคราวมีคนติดโควิดที่ติดต่อเข้ามาจำนวนมากและตอนนั้นคลัสเตอร์คลองเตยระบาด 6 เดือน ที่อยู่ที่นั่นคนไทยได้ยินเสียงไซเรนรถพยาบาลทุกวัน ปรากฎว่าฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ ส่งข้าวให้กับชุมชนคลองเตย 600,000 กล่องและข้าวอีก 600 ตัน
 
นอกจากนี้ ฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ ยังได้ผลักดันเรื่องวัคซีนด้วยในฐานะที่ตนเองเป็นนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ มีการระดมฉีดวัคซีนและมอบชุดตรวจโควิดให้กับบุคลากรในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งนี้หน่วยงานรัฐอำเภอปากช่องได้อบรม อสม. สู้โควิดไปแล้วถึง 5รุ่น
คุณเกศรา วิมลเกษม หัวหน้าโครงการอาสามาเยี่ยม มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยถึง โครงการเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมท่วมใหญ่ มูลนิธิกระจกเงาไปช่วยเก็บขยะและมีคนถามเรื่องของให้ยืม ตั้งแต่ตอนนั้น เช่น ให้ยืมอุปกรณ์ผู้ป่วย ป่วย 1 คน ใน1บ้านขาดรายได้ไปถึง2คน คือคนป่วยและคนดูแล คนหาเงินจะหนักสุด ก็เลยเกิดโครงการ “อาสามาเยี่ยม” พอโครงการใหญ่เกิดขั้นจึงแตกออกเป็น “ป่วยให้ยืม”ให้ยืมเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์ โครงการป่วยให้ยืมมีการหมุนเวียนผู้ป่วยใช้เสร็จก็คืน มีหน่วยงานที่ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มาบริจาคให้ จิตอาสาไม่จำเป็นต้องร่วมงานกับคนอื่น แค่เราไปทำกิจกรรมกับชุมชน หรือทำกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมได้ด้วย 2 มือของเราเท่านั้นก็เพียงพอ
‘ธรรมชาติของสังคมคือการที่เราต้องช่วยกัน สิ่งนี้ไม่ใช่วาทกรรม แต่เป็นหลักคุณธรรมของมนุษย์ เป็นหลักธรรมทางศาสนาที่เรียกว่า สังคหวัตถุ 4 ที่เริ่มต้นจากการแบ่งปันการเป็นผู้ให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนพัฒนาสังคม การมีจิตสาธารณะหรือจิตอาสาหรือการทำงานเพื่อสังคม ผลที่ได้คือทำแล้วมีความสุข ผ่อนคลาย แจ่มใส ไม่เศร้าหมอง ได้ประโยชน์ทั้งทั้งตัวเองและสังคม
ซึ่งกองทุนสื่อมีกลยุทธ์การทำงานสื่อสาร โดยพยายามเปิดพื้นที่แสดงออกในการให้คนไทยหันมาแบ่งปันเรื่องๆดีให้กัน’ ดร.ธนกร กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมเสวนาออนไลน์ย้อนหลังได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก สื่ออาสาประชาชน และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
 

 

 

15 กรกฎาคม 2565

ผู้ชม 380 ครั้ง

Engine by shopup.com