กรมทรัพยากรธรณี นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานด้านธรณีวิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าชมพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา ก่อนเปิดจริงปลายปี 2563

หมวดหมู่: OK MASS NEWS

 

            ในระหว่างวันที่  24 – 25 กันยายน 2563 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมนำคณะสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อศึกษาดูงานด้านธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยาเส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา (พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน) แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย ถ้ำขมิ้น โครงการเกษตรเงาะแปลงใหญ่ เหมืองแร่ดีบุก ภูเขาทรายเหมืองแกะ

             นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรธรณี มีภารกิจเกี่ยวกับการสงวน การอนุรักษ์ การฟื้นฟู บริหารจัดการด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณี ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม และธรณีพิบัติภัย ให้ความรู้ด้านธรณีวิทยา ธรรมชาติวิทยา อย่างถูกต้องแก่ประชาชน รวบรวมลักษณะดิน หิน แร่ธาตุ ต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษา การจัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษา แหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยาครั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ      ในเรื่องแหล่งธรณีวิทยา และอุทยานธรณีของไทย เพื่อสร้างความหวงแหนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรณีสืบไป

               พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา (พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน)  เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางวิชาการด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา คลังเก็บตัวอย่างสำหรับเก็บรักษาธรณีวัตถุที่ค้นพบในภาคใต้ และเป็นศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติภัยที่สมบูรณ์แบบแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการ ด้านธรณีวิทยา สำหรับนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และประชาชนที่สนใจ  ผู้เข้าชมจะได้รับความ รู้เบื้องต้นด้านธรณีวิทยา และยังสามารถชม Tree  of  Life เป็นภาพนูนต่ำของซากดึกดำบรรพ์ เช่น ไทโลไบต์ นอติลอยด์ ฟอสซิลหอย (Posidonomya Gastropod Brachio) แอมโมไนด์ ไดโนเสาร์ ลิงสยาม และสโตมาโตไลต์ รวมถึงหุ่นจำลองไดโนเสาร์ การกำเนิดของโลก ระบบสุริยะจักรวาล และส่วนประกอบของโลก ต่อเนื่องไปจนถึงการกำเนิดสุวรรณภูมิ สัมผัสความหลากหลายทางทะเลดึกดำบรรพ์ ชีวิตดึกดำบรรพ์จากทะเลสู่บก ตั้งแต่มหายุคพาลีโอโซอิก ซึ่งได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศที่ภาคใต้ และการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตมหายุค Mesozoic จนถึงวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมหายุค Cenozoic อีกด้วย

                พร้อมกันนั้นจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรณีสัณฐาน และอุทยานธรณีโลก การจำลองเรือให้ได้นั่งถ่ายภาพ การให้ความรู้เรื่องหิน ลำดับชั้นหินของภาคใต้  เรียนรู้การจำแนกหินประเภทต่างๆ ตลอดจนได้เห็นสัมผัสหินชนิดต่างๆ ที่พบในประเทศไทยของจริง ได้เรียนรู้วัฎจักรของหิน ซึ่งมีความสำคัญต่อโลกของเรา เรียนรู้ด้านแร่ธาตุ เนื่องจากในประเทศไทยมีแร่ธาตุเยอะตั้งแต่อดีต  ชมความงามและสีสันอันน่าอัศจรรย์    ของแร่ เรียนรู้เรื่องราวของแร่ ที่มา รวมถึงแร่ทองคำภาคใต้ แนวคิดการเก็บสมบัติมีค่า เป็นสิ่งที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ประวัติการทำเหมือง กระบวนการกำเนิดแร่แบบต่างๆ การแบ่งกลุ่มแร่ตามส่วนประกอบทางเคมี และคุณสมบัติทางกายภาพของแร่ ประกอบด้วยตัวอย่างแร่ของจริงจำนวนมาก ได้ทราบถึงประโยชน์ของแร่   ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเรา

                 เรียนรู้ถึงธรณีพิบัติภัยด้านต่างๆ ในรูปแบบนิทรรศการ เสมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง       โดยการนำเสนอที่ทันสมัย เรื่องราวของภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นภัยในรูปแบบหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา รวมทั้งยังมีห้องประชุมขนาดใหญ่พร้อมใช้งานในทุกรูปแบบ มีห้องบรรยายที่มีมุมบรรยากาศที่สวยที่สุด มองเห็นแม่น้ำตาปีได้อย่างสวยงาม ซึ่งจะสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมได้อย่างแน่นอน

                 แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย  แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย  เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ดังปรากฏหลักฐานโบราณวัตถุสถานจำนวนมากบริเวณเขาศรีวิชัยและพื้นที่ราบโดยรอบ ได้แก่เนินโบราณสถาน ฐานโยนิ ศิวลึงค์ เทวรูปพระวิษณุ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหิน เช่น ธรณีประตู กรอบประตูฐานเสา เครื่องถ้วยจีน และเครื่องปั้นดินเผาพื้นเมือง รวมทั้งลูกปัดอีกเป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งที่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญหลายอย่าง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของควนพุนพิน ประกอบด้วยเนินเขาหินดินดานผสมเนินดินบริเวณที่เป็นโคกหรือที่ดอน ๒ แห่ง เป็นศาสนสถานประดิษฐานประติมากรรมหรือรูปเคารพเพราะปรากฎร่องรอยแนวอิฐและหินดานกรอบธรณีประตูโถทหนึ่ง พบโยนิโทรนะส่วนอีกโคกหนึ่งใกล้เชิงเขา ที่ปรากฏใบเสมาหินทรายแดงสมัยอยุธยาและเคยพบศิลาลึงค์ บริเวณพื้นที่ราบห่างจากเขาศรีวิชัยไปทางตะวันตก       มีสระน้ำขนาดใหญ่เป็นสระกลมสันขอบสระเป็นแนวกันดิน สันนิษฐานว่า "สระพัง" เป็นแหล่งเก็บน้ำสำหรับ   ทำการกสิกรรม ส่วนบนเขาศรีวิชัยประกอบด้วยเนินอิฐหรือศาสนสถาน 2 แห่ง เนินหนึ่งเป็นที่ประดิษฐาน   พระวิษณุ และห่างจากเนินอิฐประดิษฐานพระวิษณุไปทางเหนือประมาณ 40 เมตร มีบริเวณคล้ายสระน้ำ     รูปกลมขนาด 10 x 10 เมตร ก่ออิฐและหินเป็นสันหรืออาจเป็นสระน้ำโบราณสำหรับใช้ในการประกอบพิธี  ทางศาสนา เนินเขาหรือที่สูงของแหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย สงวนไว้เฉพาะศาสนาสถานแต่มีการเข้าอยู่อาศัยประกอบกิจกรรมชุมชนบนพื้นราบเบื้องล่างรอบๆ เนินเขาที่ตั้งศาสนสถาน ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชุมชนโบราณอายุกว่า 1,000 ปี

          ลักษณะธรณีสัณฐานบริเวณโดยรอบเขาศรีวิชัย เขาศรีวิชัยเป็นภูเขาลูกโดดลูกเล็กๆ  ที่ตั้งอยู่กลาง   ที่ราบลุ่มริมแม่น้ำพุนพินซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำตาปี จากการเจาะสำรวจเพื่อศึกษาลักษณะชั้นตะกอนดินบริเวณที่ราบโดยรอบพบชั้นตะกอนพื้นผิวเป็นชั้นตะกอนดินเหนียว สีดำ เนื้อละเอียดเหนียวนิ่ม แทรกสลับด้วยชั้นตะกอนทราย เนื้อละเอียดถึงหยาบ เป็นชั้นบางๆ บ่งชี้ว่าในอดีตบริเวณนี้มีลักษณะภูมิประเทศเป็น ที่ราบน้ำท่วมถึงซึ่งต่อเนื่องถึงบริเวณปากแม่น้ำตาปีโบราณ ชั้นตะกอนนี้เทียบเคียงได้กับชั้นตะกอนดินเหนียวกรุงเทพฯ (Bangkok clay) ที่สะสมตัวเมื่อประมาณ 5,000 ปี ที่ผ่านมา

ลักษณะธรณีสัณฐานที่พบบริเวณที่ราบรอบเขาศรีวิชัยที่เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำที่สามารถออกสู่ทะเลได้ ประกอบกับการพบโบราณสถานและโบราณวัตถุในพื้นที่ ทำให้คาดว่าชุมชนโบราณตั้งอยู่ริมแม่น้ำแถบนี้      ซึ่งส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะมีการค้าขายทางน้ำสู่ทะเล ทำให้อาณาจักรศรีวิชัยในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง

                   ถ้ำขมิ้น  เป็นถ้ำที่เกิดในเทือกเขาหินปูน ที่เกิดขึ้นในยุคเพอร์เมียน (Permian) ตามตารางธรณีกาล ประมาณ 280 ล้านปี แล้ว กระบวนการเกิดถ้ำขมิ้นเกิดขึ้นตามกระบวนการทางธรณีวิทยาที่ทำให้เกิดถ้ำทั่วไปคือเกิดการละลายของหินปูนเมื่อถูกน้ำที่ฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆแทรกตามแนวแตกที่ตัดผ่านชั้นหิน เมื่อการเวลาผ่านไปรอยแตกในเนื้อหินจะถูกกัดเซาะจนขยายตัวเป็นโพรงช่องว่างใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นถ้ำ      ถ้ำขมิ้นนี้มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีการจัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1,250 เมตร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ถ้ำเหม็น ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น มีขนาดกว้างใหญ่มาก มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามด้วยรูปทรงต่างๆ ภายในถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวจำนวนมาก ถ้ำขมิ้นเคยเปิดสัมปทานให้มีการจัดเก็บมูลค้างคาวภายในถ้ำได้ เพื่อนำไปทำปุ๋ยฟอสเฟต ลักษณะของถ้ำเป็นภูเขาสูงใหญ่ มีบันไดเดินขึ้นไปด้านบน เพื่อที่จะเข้าไปภายในตัวถ้ำ นอกจากจะได้ชมความงามของหินงอกหินย้อยแล้ว จะได้พบกับ ศาลท่านขุน       ที่ปากถ้ำซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้าน ลานรถจี๊ป เป็นห้องใหญ่ที่มีร่องรอยของรถจี๊ป ในสมัยที่มีการทำสัมปทานมูลค้างคาว ลานท่านขุน เป็นทำนบหินปูน มีหินงอกหินย้อยขนาดใหญ่ เรียกว่า “เสาเอก” และ “หลักชัย” ช่องฟ้า เป็นช่องที่ทะลุเพดานถ้ำได้ ม่านสีชมพู เป็นม่านหินปูนที่มีลวดลายเป็นริ้ว ๆ สีชมพู มองเห็นเป็นภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ ม่านฟ้า เป็นม่านหินย้อยขนาดใหญ่ บางจุดดูคล้ายเศียรช้าง มีความสวยงามเป็นอย่างมาก

                   โครงการเกษตรเงาะแปลงใหญ่  ในอดีตเมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว มีการทำเหมืองแร่ดีบุกในพื้นที่นี้มาก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ได้เกิดโครงการเกษตรแปลงใหญ่ขึ้น ในพื้นที่ 1,134 ไร่ 168 แปลง นำโดยเกษตรอำเภอบ้านนาสารและเจ้าหน้าที่โครงการแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนในตำบลเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อทำการเกษตร โดยเป็นการปลูกเงาะโรงเรียน ลักษณะทางธรณีสัณฐานและธรณีวิทยาของพื้นที่โครงการเกษตรแปลงใหญ่นี้มีเป็นที่เนินลอนราบระหว่างหุบเขา ล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูงที่เป็นหินแกรนิต มีเขาหินปูนเล็กๆ กระจายอยู่โดยรอบ ทำให้ชั้นดินในหุบเขาที่ตั้งพื้นที่โครงการเงาะแปลงใหญ่นั้นเป็นชั้นดิน ที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนที่ผุพังมาจากเทือกเขาหินแกรนิตและหินปูนที่อยู่โดยรอบ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนตกในพื้นที่ในปริมาณมากในแต่ละปี จึงทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ซึ่งทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเงาะจากโครงการจะมีสีแดงสด ผลใหญ่ มีความหวานกรอบ  โครงการจะมีการให้ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรในหลายด้าน เช่นการดูแลดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดิน ถือเป็นโครงการที่ส่งเสริมการเกษตร ยึดพื้นที่ชุมชนเป็นหลักในการดำเนินงาน ลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จนได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี

             ภูเขาทรายเหมืองแกะ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านเหมืองแกะ อำเภอนาสาร เป็นประติมากรรมเนินหินทราย สูงต่ำสลับกันไปมา โดยเป็นหินทรายสีขาว ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ในการทำเหมืองแร่ดีบุกเก่ามาก่อน แหล่งแร่ที่พบเป็นแหล่งแร่แบบลานแร่ คือแร่ดีบุกในแหล่งนี้จะหลุดออกมาจากหินแกรนิต ต้นกำเนิดจากกระบวนการผุพังของหินตามธรรมชาติ และแร่ดีบุกจะถูกน้ำพัดพามาสะสมตัวร่วมกับตะกอนกรวดทรายตามที่ราบเชิงเขา การทำเหมืองแร่บริเวณนี้จะทำโดยการดูดทรายขึ้นมาเพื่อแยกร่อนรี่บุกออกทราย นำแร่ไปใช้ประโยชน์ ส่วนทรายที่แยกนั้นจะนำไปกองรวมกันไว้ในบริเวณที่กำหนด นานวันเข้ากองทรายที่ดูดขึ้นมาก็ได้ทับถมกลายเป็นเนินทรายกองมหึมาเท่าภูเขา เกิดเป็นแนวเขายาวสุดลูกหูลูกตา ตัดสลับกับสีเขียวขจีจากผืนป่าที่อยู่โดยรอบ ทำให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในปัจจุบัน

 

 

กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

โทรศัพท์ 0 2621 9500 www.dmr.go.th

 

08 ตุลาคม 2563

ผู้ชม 1082 ครั้ง

Engine by shopup.com